ค่าตอบแทนแบบไหน โดนใจคนไอที
01-มิ.ย.-17
HR insights
ในเรื่องของค่าตอบแทน (ในที่นี้ขอรวมสวัสดิการเข้าไปด้วย) ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับองค์กร และเป็นเรื่องสำคัญของคนทำงาน ซึ่งแต่ละคนก็มีตัวเลขหรือความคาดหวังในใจว่าต้องการได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ ในขณะที่องค์กรเองก็มีเกณฑ์ในการพิจารณาและมีเพดานในการจ่ายค่าตอบแทนเช่นกัน แล้วอะไรคือ เกณฑ์ที่จะใช้ในการตัดสินว่า ค่าตอบแทนควรอยู่ในจุดไหนที่จะทำให้แฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย มาดูกันซิว่า ค่าตอบแทนแบบไหนที่จะดึงดูดใจคนไอทีและสามารถใช้เป็นเกณฑ์ที่สมเหตุสมผลกับองค์กรด้วย
- ค่าตอบแทนตามทักษะและประสบการณ์
แน่นอนว่า เมื่อคนเราทำงานไปนานๆ ย่อมเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ที่มากขึ้น มีพนักงานหลายคนที่ได้พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะการบริหารลูกน้องในฐานะที่ตนเอง Senior กว่า ร่วมไปด้วย ดังนั้น คนไอทีก็คาดหวังเช่นกันว่า การประเมินผลงานประจำปี หรือการขึ้นเงิน หรือแม้แต่การจ้างเข้ามาทำงานใหม่ ก็ควรที่จะเหมาะสมกับความรู้ ทักษะ และความสามารถด้านอื่นๆ ตามระดับของตำแหน่งงานนั้นๆ ด้วย
- ค่าตอบแทนที่ไม่ต่ำกว่าตลาด
อย่างที่เคยนำเสนอไปในบทความก่อนๆ เรื่องค่าตอบแทนที่ไม่ควรต่ำกว่าตลาด ซึ่งหลายๆ องค์กร อาจจะลืมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไป อาจจะพิจารณาแต่ในด้านขององค์กรเองว่า เคยตั้งกระบอกเงินเดือนมาแบบนี้ๆ ก็เลยยึดถือมาตลอด ไม่ค่อยปรับเปลี่ยน แต่ไม่ได้มองว่า ในตลาดคนทำงานไอทีเอง เค้าปรับค่าตอบแทนกันไปถึงไหนแล้ว ทักษะไอทีขนาดนี้ ทักษะภาษาได้ และทักษะด้านอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยที่พนักงานเองมองถึงมูลค่าของตัวเองด้วยเช่นกัน หากองค์กรให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ก็ไม่แปลกที่พนักงานจะหางานใหม่
- ค่าตอบแทนในฐานะผู้สร้างผลงาน
บางองค์กรที่อยากรั้งคนไอทีเก่งๆ (ที่มักหันไปตั้ง Startup) ให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ อาจมีการให้ค่าตอบแทนในแง่ของผู้สร้างผลงาน เช่น บริษัทที่จำหน่าย Software อาจจะมีการให้ค่าตอบแทนกับคนไอทีที่สร้าง Software นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เมื่อจำหน่าย Software ได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นต้น การให้ค่าตอบแทนลักษณะนี้ นอกจากทำให้คนไอทีอยากที่จะสร้างผลงานดีๆ แล้ว ยังช่วยเพิ่มในแง่ของขวัญและกำลังใจในการทำงานอีกด้วย
- ค่าตอบแทนที่ส่งเสริมความสามารถพนักงาน
นอกจากค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว สวัสดิการต่างๆ ที่สนับสนุนให้คนไอที ได้พัฒนาความสามารถและทักษะที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้คนไอทีรู้สึก happy ได้ เช่น มีงบประมาณส่งเสริมให้คนไอทีไปสอบ Certification ต่างๆ จ่ายค่าคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ หรือจ่ายค่าอบรมสัมมนาที่คนไอทีสนใจ เป็นต้น ถ้าองค์กรไหนมีสวัสดิการดีๆ แบบนี้ เชื่อว่าคนไอทีชื่นชอบแน่นอน
- ค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน
สำหรับข้อนี้ ถือเป็นสวัสดิการที่ตอบโจทย์สไตล์การทำงานของคนไอที เช่น การยืดหยุ่นเวลาทำงาน พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้ (Work from home) หรือ วันหยุดชดเชยให้กรณีที่ทำงานแล้วต้องกลับดึกต่อเนื่องกันหลาย ๆ วัน แบบนี้ก็ทำให้คนไอทีเองรู้สึกว่า ตนเองไม่ถูกเอาเปรียบ อย่างน้อยองค์กรก็ให้ความสำคัญพวกเขา ในขณะที่พวกเขาเหนื่อยอดหลับอดนอน แต่องค์กรก็ยังชดเชยในด้านอื่นๆ ให้แทน
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนตลาดแรงงานไอทีที่มีทักษะเฉพาะทาง เช่น Data Science, Machine Learning, Cyber Security ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทักษะที่ยังไม่มีหลักสูตรการศึกษาที่ตอบโจทย์ในด้านนี้ ในขณะที่บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ไม่เพียงพอ ทำให้ค่าตัวค่อนข้างสูง คีย์สำคัญคือ ค่าตอบแทนแบบไหนที่จะดึงดูดคนที่องค์กรต้องการและเป็นแบบที่องค์กรรับไหว องค์กรใหญ่หรือบริษัทข้ามชาติอาจมีศักยภาพที่จะจ่ายเงินค่าตอบแทนได้มากกว่าบริษัทเล็กหรือ Start up ในขณะที่ องค์กรขนาดเล็กมีความยืดหยุ่นของเวลาทำงานและกฎระเบียบต่างๆ มากกว่าองค์ใหญ่ๆ เป็นต้น การสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรเก่งๆ เหล่านี้เข้ามาร่วมงานในองค์กร จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ HR ที่ไม่ควรมองข้าม
อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ
|
บทความที่เกี่ยวข้อง